วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2555



กฎหมายล้มละลาย
ลักษณะของกฎหมายล้มละลาย
มีนักกฎหมายบางท่านกล่าวว่า กฎหมายล้มละลาย เป็นกฎหมาย วิธีสบัญญัติ ( เป็นกฎหมายที่กล่าวถึงวิธีดำเนินคดี หรือ ขั้นตอน วิธีการต่างๆ ในการดำเนินคดี )   บางท่าน กล่าวว่า เป็นกฎหมายสารบัญญัติ ( กฎหมายที่กล่าวถึง สิทธิ และหน้าที่ รวมตลอดถึงความรับผิดชอบ ของบุคคล )   และก็มีหลายท่านเห็นว่าเป็น กฎหมายสารบัญญัติ และ กฎหมายวิธีสบัญญัติ อยู่ในฉบับเดียวกัน   แต่อย่างไรก็ดี  ไม่ว่า กฎหมายล้มละลาย จะมีลักษณะอย่างไร  มันก็ยัง เป็นกฎหมายล้มละลาย ที่ทั้งยุ่ง และ ทั้งยาก ดังนั้น จึงไม่ค่อยสำคัญสักเท่าไร ที่จะต้องมานั่งคิดว่า มันมีลักษณะอย่างไรกันแน่ ( ช่างมันเถอะ )

* การยึดทรัพย์ของผู้อื่น
* สิทธิในตัวบุคคล  *  บังคับคดีได้เฉพาะทรัพย์สินเท่านั้น
  * บังคับได้เฉพาะทรัพย์ที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของเท่านั้น  * บังคับได้ทั้งทรัพย์สิน และ สิทธิเสรีภาพ
 * สามารถบังคับคดี เอาแก่ ทรัพย์ที่เป็น ของผู้อื่น ได้ด้วย
 ภาพรวมการดำเนินคดีแพ่งสามัญ และ คดีล้มละลาย



คดีแพ่ง
 เมื่อศาลตรวจคำฟ้องแล้ว ว่าถูกต้อง ศาลจะสั่ง รับคำฟ้อง ไว้พิจารณา โจทก์มีหน้าที่ นำหมายเรียก และ ส่งสำเนาคำฟ้อง ให้จำเลย เพื่อแก้คดี ภายใน 7 วัน เมื่อจำเลยได้รับ สำเนาคำฟ้องแล้ว จำเลยต้องยื่นคำให้การ ภายใน 15 วัน มิฉะนั้น ถือว่า จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ หลังจากนั้น ศาลจะนำคำฟ้อง และ คำให้การ มาเปรียบเทียบกัน หาประเด็นข้อพิพาท เพื่อกำหนด ภาระการพิสูจน์ และ หน้าที่นำสืบก่อน ขั้นตอนนี้ เรียกว่า การชี้สองสถาน เมื่อชี้สองสถานเรียบร้อยแล้ว ศาลจะกำหนดวันสืบพยาน คู่ความฝ่ายใดไม่มาศาลในวันสืบพยาน ถือว่า ขาดนัดพิจารณา ถ้าโจทก์ขาดนัด ศาลจะยกฟ้อง แต่โจทก์ฟ้องใหม่ได้ ภายในกำหนด อายุความ ถ้าจำเลยขาดนัด ศาลจะฟังพยานโจทก์ฝ่ายเดียว แล้วพิพากษา ( ไม่แน่ว่า โจทก์จะชนะคดีเสมอไป ) ถ้าคู่ความฝ่ายใด ไม่พอใจคำพิพากษาของศาล คู่ความ ฝ่ายนั้นก็อาจใช้สิทธิอุทธรณ์ ฎีกา ต่อไปได้ ถ้าไม่ใช้สิทธิดังกล่าว หรือใช้จนครบถ้วนแล้ว และยังไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จะใช้สิทธิ บังคับคดี ตามคำพิพากษา ส่วนจะ บังคับอย่างไร ขึ้นอยู่กับ คำพิพากษา ถ้าพิพากษาให้ชำระเงิน แล้วลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ก็มีอำนาจ นำ เจ้าพนักงานบังคับคดี ไปยึดอายัดทรัพย์สิน ของลูกหนี้ได้ แต่ต้องกระทำต่อ ทรัพย์ที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของ หรือ เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เท่านั้น ถ้าเป็น ทรัพย์ของบุคคลอื่น ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง สามารถร้องขอต่อศาล ให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้ การยึดทรัพย์ ก็มิใช่ว่า จะยึดทรัพย์ทุกสิ่งทุกอย่างได้ มีทรัพย์ และ สิทธิเรียกร้องบางประเภท ที่ยึดอายัดไม่ได้ และข้อสำคัญ ต้องยึดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หลังจากยึด ทรัพย์มาแล้วก็ขายทอดตลาด ได้เงินมาก็ชำระหนี้ แค่นี้ก็เสร็จ


                                                                   คดีล้มละลาย

 
การยื่นฟ้องคดีล้มละลาย ( เฉพาะในระหว่างที่ ศาลล้มละลายภาคยังไม่เปิดทำการ ) ให้ยื่นต่อ ศาลชั้นต้นที่ ลูกหนี้มีภูมิลำเนา อยู่ในเขตศาล หรือ ประกอบธุรกิจ อยู่ในเขต ศาลต้นนั้น ต้องส่งคำฟ้อง ต่อไปยังศาลล้มละลาย เมื่อศาลล้มละลายรับฟ้องแล้ว ก็จะออกไปทำการไต่สวน นั่งพิจารณา และพิพากษาคดี ณ ศาลจังหวัดดังกล่าว  ทีนี้ วิธีพิจารณาตามลำดับ ก็เริ่มด้วย การตรวจคำฟ้อง ซึ่งก็ใช้หลักกฎหมาย การตรวจคำคู่ความ ในคดีแพ่งสามัญนั่นเอง
หลังจากรับฟ้องแล้ว จะส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้ลูกหนี้เพื่อทราบ ( เพื่อทราบไม่ใช่เพื่อแก้คดี )   ดังนั้น ในคดีล้มละลาย จำเลย หรือลูกหนี้ ไม่จำต้อง ยื่นคำให้การก็ได้ แต่ถ้าอยากจะยื่น ก็ไม่มีใครว่า   ต่อมาก็มาเจอกัน ในวันนัดพร้อม ในคดีล้มละลาย ไม่ต้องชี้สองสถาน  เพราะถือว่า คู่ความรู้หน้าที่ของตนแล้วว่า ใครต้องสืบอะไร แค่ไหน และอย่างไร และที่สำคัญ ไม่ต้องเถียงกันว่า ใครจะสืบก่อน เพราะโจทก์สืบก่อนเสมอ เช่นเดียวกับคดีอาญา พอถึงวันสืบพยาน เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ก็สืบซะให้พอ ( ถ้าสืบพยานโจทก์เสร็จ ศาลนัดฟังคำพิพากษา เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ คงต้องหนาวหน่อย แสดงว่า ศาลยกฟ้องแน่นอน ) สืบพยานโจทก์เสร็จ ก็สืบพยานจำเลยหรือพยานฝ่ายลูกหนี้นั่นแหละ เวลาชั่งนำหนักพยาน ศาลก็จะต้องนำกฎหมายล้มละลาย มาตรา 14 มากาง ถ้าเข้าเงื่อนไข ได้ความว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แถมไม่มีปัญญาชำระหนี้ และ ไม่มีเหตุ ที่ไม่ควรล้มละลาย ศาลจะมีคำสั่ง พิทักทรัพย์เด็ดขาด แต่ในทางตรงข้าม ถ้าทางพิจารณา ( การฟังพยานหลักฐานในคดี ) ได้ความว่า ลูกหนี้ยัง มีสินทรัพย์พอชำระหนี้ หรือ ทรัพย์ไม่มี มีแต่ความสามารถ ในการชำระหนี้ หรือมีเหตุอื่น ที่ไม่ควรล้มละลาย ศาลจะทำเป็นคำพิพากษา ( ไม่ใช่คำสั่ง ) ยกฟ้อง
กรณีที่ศาลมีคำสั่งพิทักทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพิ่งจะมีบทบาทในฉากนี้เอง ซึ่งสรุปแล้วช่วงนี้บุคคลที่เกี่ยวข้อง ก็จะมี ลูกหนี้ เจ้าหนี้ และ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ บุคคลต่างๆ จะมีหน้าที่ความรับผิดชอบ แตกต่างกันไป เช่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีหน้าที่โฆษณาคำสั่งนั้น ในราชกิจจานุเบกษา และใน หนังสือพิมพ์รายวัน ไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ และมีหน้าที่รวบรวมและจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ( รวบรวมเฉยๆ ยังขายไม่ได้ ต้องรอให้ลูกหนี้ล้มละลายก่อน ) ส่วนลูกหนี้ก็มีหน้าที่ ต้องรายงานตัวต่อ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง ๆ แรก ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับ ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด ช่วงที่สอง ภายใน 7 วัน เพื่อ ชี้แจงเกี่ยวกับ กิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ( ถ้าลูกหนี้ฝ่าฝืน มีความผิด ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 1,000 บาทหรือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ) นอกจากนี้ ถ้าลูกหนี้ประสงค์จะขอประนอมหนี้ ก็ต้องแจ้งไว้ด้วย เพื่อ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะได้เตรียมการ นัดไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยต่อไป สำหรับเจ้าหนี้ ก็มีหน้าที่ ต้องยื่น คำขอรับชำระหนี้ ภายใน 2 เดือนนับแต่ วันโฆษณา ( วันโฆษณาครั้งหลังสุด )  แม้จะเป็นเจ้าผู้เป็นโจทก์ ก็ต้องยื่น ไม่มีสิทธิพิเศษใดๆทั้งสิ้น  ถ้าเจ้าหนี้คนใด หลงลืม หรือ ขี้เกียจยื่น เจ้าหนี้คนนั้น ก็เสียสิทธิ ในกองทรัพย์สิน ในคดีล้มละลาย
เมื่อครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะตรวจสอบเจ้าหนี้ด้วย ว่าใครเป็นเจ้าหนี้จริง เจ้าหนี้ ปลอม เจ้าหนี้สมยอม ในขณะเดียวกัน ถ้าลูกหนี้ต้องการขอประนอมหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ต้องนัดไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย ก่อนการประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดหัวข้อในการประชุม เกี่ยวกับ การขอประนอมหนี้ ว่าจะยอมรับหรือไม่ หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และต้องปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการ ทรัพย์สินของลูกหนี้ มติของที่ประชุมเจ้าหนี้ จะมีผลต่อคำพิพากษาให้ ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่
ถ้าศาลเห็นว่า ลูกหนี้สมควรล้มละลายศาลก็จะพิพากษาให้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ขายทอดตลาดทรัพย์ที่รวบรวมไว้ได้ ได้เงินมาก็นำไปเฉลี่ยชำระหนี้ ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม ถ้าในช่วงเวลานี้ ลูกหนี้เกิดกลัว ( เพิ่งนึกได้ ) ที่จะล้มละลาย ลูกหนี้ก็มีสิทธิขอประนอมหนี้หลังล้มละลายได้ด้วย
หลังจากเป็นบุคคลล้มละลายไปได้สักพัก ลูกหนี้อาจหลุดจากการล้มละลายได้ หลายวิธี เช่น การยกเลิกการล้มละลาย การปลดจากการล้มละลาย หรือการพ้นจากการล้มละลาย ซึ่งวิธีสุดท้าย เป็นวิธีอัตโนมัติ ไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่ ทำตัวดีๆ ไม่เผลอตัว เผลอใจ เป็นคนล้มละลายทุจริต ก็ใช้ได้ คดีล้มละลาย ก็จบแบบ แฮบปี้ เอนดิ้ง แค่นี้เอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น