วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

ความรู้เบื้องต้นกับกฏหมายทรัพย์สินทางปัญญา
“ทรัพย์สินทางปัญญา” ในความรู้สึกของผม มันคือเสรีภาพ คือความเท่าเทียมกันของมนุษย์ในการที่จะเลือกเดินตามฝัน เลือกที่จะใช้ชีวิตเลยทีเดียว ทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ต้องมี ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือปริญญาจากมหาลัยดีๆ เพียงแค่มี ความคิด จินตนาการ มีการทุ่มเท รู้จักวิธีค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเองและรับผิดชอบ ก็สามารถทำให้ ผู้นั้นประสบความสำเร็จในชีวิตได้และที่สำคัญเกิดประโยชน์ต่อมนุษย์และสังคมโลกด้วยเช่นกัน ด้วยความคิดและการทุ่มเทจากทรัพย์สินทางปัญญาของมนุษย์สามารถ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่เดือดร้อนได้มากมายจากปัญญาของตนเป็นเรื่องที่พิเศษมากอย่างหนึ่งของโลกนี้ มันเป็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์เมื่อเราสามารถสร้างสรรค์อะไรได้ หรือแม้แต่วิศวกรเอง สังคมเราเชื่อว่าระบบการศึกษาน่าจะช่วยให้เราเชื่อมั่นได้ว่าเค้าจะสามารถสร้างสรรค์ได้จริง แต่หากแม้เป็นวิศวกรแต่เพียงปริญญา ไม่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานใดให้กับสังคมเป็นรูปธรรมขึ้นมาสักชิ้น ผมยังคิดว่าเทียบไม่ได้เลยกับนักประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรจากการประดิษฐ์ผลงานเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยที่เขาไม่ได้เรียนหนังสือด้วยซ้ำ ทรัพย์สินทางปัญญาคือเวทีของผู้สร้างสรรค์ตัวจริง คำว่า “ผู้สร้างสรรค์” เป็นคำที่สวยงามจริงและเป็นภาษากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
ทรัพย์สินทางปัญญา “Intellectual Property” หลายๆ ฝ่ายได้มีการนิยามแตกต่างกันไปอย่างกว้างขวาง ผมสรุปการจับใจความได้ว่ า ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง สิ่งที่เป็นรูปร่าง (รูปธรรม) หรือความคิด (นามธรรม) ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ เช่น การออกแบบอุปกรณ์ไฟฟ้า การออกแบบวงจร สิ่งประดิษฐ์ บทกวี วรรณกรรม ภาพวาด แนวความคิด เป็นต้น แต่ในแง่ของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ผมเข้าใจเอาเองว่า ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง ทรัพย์สินอันเกิดจากผลิตผลทางความคิดของผู้สร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นสมบัติอันล้ำค่าของทุกคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ วิธีดั้งเดิมของคนโบราณ ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของตน คือการเก็บสิ่งที่ตนคิดค้นสร้างสรรค์ขึ้นมาไว้ในสมองของผู้คิดค้น เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อผู้อื่นมาพบสิ่งที่ตนคิดค้นสร้างสรรค์ขึ้นมา แล้วนำไปหาประโยชน์ โดยที่ตนไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทนใดๆ ดังนั้นทรัพย์สินทางปัญญานั้นๆ จะยังคงถูกเก็บรักษ าไว้ตราบจนผู้คิดค้นสร้างสรรค์ตัดสินใจเปิดเผย หรือไม่ก็ตายตามผู้คิดค้นดับไปปัจจุบันองค์ความรู้ในเรื่องใดๆ นับว่ามีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะงานวิศวกรรมโทรคมนาคมในปัจจุบันที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและมีวงจรชีวิตสั้นลง(Shortly Technology Life Cycle) ในหนึ่งชั่วชีวิตคน หากค้นคว้าเอง คิดเอง ปฏิบัติเอง เพียงลำพัง เทคโนโลยีคงไม่สามารถก้าวไกลไปได้รวดเร็วสักเท่าไร ดังนั้นการต่อยอดทางความคิดและการจัดการแบ่งกันคิด แบ่งกันสร้างสรรค์ในมุมมองเชิงมิติสัมพันธ์เพื่อสร้างงานใหญ่ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสังคมมนุษย์ กฏหมายทรัพย์สินทางปัญญาจึงเกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้ที่คิดค้นงานสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นคนแรก ให้สามารถหาประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ของตนได้อย่างเต็มที่และชอบธรรม อีกทั้งยังให้ความคิดสร้างสรรค์นั้นถูกนำมาเปิดเผยเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ต่อโลกและสังคมมนุษย์ต่อไปและยังเป็นการลดขั้นตอนการคิดเพื่อนำความรู้เดิมมาต่อยอดความรู้ใหม่ ทำให้นักคิดและผู้สร้างสรรค์สามารถลดเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประโยชนต่อสังคมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
พัฒนาการของการร่วมมือทางทรัพย์สินทางปัญญาของโลก ประเทศต่างๆ ที่เห็นความสำคัญของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จึงได้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา มาบังคับใช้ในประเทศของตน แต่เมื่อมีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศและมีการทำธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business) โดยเฉพาะเครือข่ายต่างๆ เพื่อการติดต่อกันระหว่างประเทศ อันเนื่องมาจากระบบโทรคมนาคมที่มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่ายุค โลกาภิวัฒน์ (Globalization) เป็นผลให้การแพร่กระจายความรู้ที่เกี่ยวกับการคิดค้นความคิดสร้างสรรค์ใดๆ นั้นแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว (Technology Diffusion) โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี แน่นอนว่าสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้คิดค้นย่อมกระทบกระเทือนด้วยเช่นกัน ประเทศต่างๆ ควรให้เกียรติซึ่งกันและกันในการให้ความเคารพ ความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากทรัพย์สินทางปัญญา โดยการออกระเบียบและกฎหมาย ให้กระทบกระเทือนผลประโยชน์ ที่ผู้สร้างสรรค์จะได้รับให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะในการค้นคว้าและแลกเปลี่ยนวิทยาการซึ่งกันและกันโดยไม่กระทบต่อประโยชน์ผู้สร้างสรรค์ที่ควรได้รับ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญอย่างมากๆ ในระดับสากล หลายๆ ประเทศล้วนได้ให้ความสำคัญในการทำข้อตกลงเพื่อคุ้มครองประโยชน์ ของผู้สร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญา จนเกิดเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศมานับร้อยปีแล้ว และสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ดังที่เราทราบกัน เช่น อนุสัญญา ปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม ค.ศ. 1883 (Paris Convention, of March 20” 1883” for The Protection of Industrial Property) โดยอนุสัญญาฉบับนี้เน้นเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม เช่น สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรม
ปัจจุบันประเทศมหาอำนาจทั้งหลายได้เล็งเห็นการรักษาประโยชน์ของทรัพย์สินทางปัญญา ยกเว้นประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งตัวแทนในการเจรจาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศจะเสียเปรียบเสมอ ดังเราจะเห็นได้จาก สหรัฐอเมริกาได้ยกเอาปัญหาเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศเป็นหัวข้อสำคัญในการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงทั่วไปทางภาษี ศุลกากรและการค้า (The General Agreement on Tariffs and Trade) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการเจรจา แกตต์ รอบ อุรุกกวัย (the Uruguay Round Negotiations) และสิ้นสุดเมื่อ เมษายน 2537 โดยมุ่งเน้นเรื่องปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามยังมีอนุสัญญาอีกฉบับหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับกฏหมายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรง แต่เป็นอนุสัญญาสนับสนุนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยผ่านองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ให้ความร่วมมือระหว่างรัฐ และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อความร่วมมือทางทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งประเทศไทยก็ได้ร่วมเป็นภาคีสมาชิกอยู่ ซึ่งอนุสัญญานี้เรียกว่า “อนุสัญญาว่าด้วยการก่อตั้งองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก” (Convention Establishing the World Intellectual Property Organization) หรือมีชื่อเรียกย่อว่า WIPO มีฐานะเป็นหน่วยงานพิเศษของ องค์การสหประชาชาติ และในปัจจุบันได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญา
อย่างไรก็ตามเมื่อโลกได้เปลี่ยนไปเข้าสู่ระบบการค้าเสรี การทำการค้าระหว่างประเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสังคมโลก นานาประเทศล้วนหาแนวทางร่วมกันในการกำตัดการกีดกันทางการค้าให้หมดสิ้นไป จึงได้มีการเจรจาตกลงเพื่อกำหนดกฏเกฑ์เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศขึ้น โดยเริ่มจากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการตกลงทางด้านภาษีศุลกากรและการค้า General Agreement on Tariffs and Trade หรือที่เยกกันทั่วไปว่า GATT แต่แล้วในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการเจรจา GATT ในรอบอุรุกวัย ได้มีข้อตกลงการจัดตั้งองค์การการค้าโลกหรือ World Trade Organization หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า WTO และเหล่าประเทศอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง ได้เสนอประเด็นใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการค้านั่นคือ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จนในที่สุดได้มีข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับการค้า (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights, Including Trade in Counterfeit Goods) หรือที่เคยได้กันยินบ่อยๆ ว่า TRIPs และประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลงดังกล่าวนี้เมื่อ 28 ธันวาคม 2537 ซึ่งบทบัญญัติของกฏหมายประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาต้องสอดคล้องกับคำแนะนำและหลักเกณฑ์ของ TRIPs ด้วย การเข้าร่วมกับประชาคมโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย เมื่อเจ็ดสิบกว่าปีก่อน ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับประชาคมโลกทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2474 (ค.ศ.1931) โดยประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาเบิร์นเพื่อคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรร ม ซึ่งแก้ไขและปรับปรุงที่กรุงเบอร์ลิน ในปี ค.ศ. 1908 และเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีดังกล่าวจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ 2474 ขึ้นในปีเดียวกันพันธกรณีของประเทศไทยที่มีอยู่ตามอนุสัญญาเบิร์นได้เปลี่ยนแปลงครั้งแรกใน พ.ศ. 2523 (ค.ศ 1980) เมื่อประเทศไทยได้เข้าผูกพันตามพิธีสารกรุงปารีส ค.ศ. 1971 ในบทบัญญัติด้านการบริหารเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2523 และพันธกรณีของประเทศไทยตามอนุสัญญาเบิร์นได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) เมื่อประเทศไทยได้ทำคำประกาศต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกว่าจะขยายผลของความผูกพันไปยังบทบัญญัติด้านสารบัญญัติ (มาตรา 1 ถึง 21) ของพิธีสาร กรุงปารีส ค.ศ. 1971 การเข้าผูกพันมีผลสมบูรณ์เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) ทำให้ประเทศไทยต้องผูกพันเต็มที่ตามพิธีสารกรุงปารีส ค.ศ. 1971 ทั้งบทบัญญัติด้านสารบัญญัติ (มาตรา 1 ถึง 21 ) และบทบัญญัติด้านการบริหาร (มาตรการ 22 ถึง 38)เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศไทยไม่เคยเข้าเป็นภาคีในความตกลงกับประเทศใด แม้ว่าประเทศไทยจะได้มีการตรากฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับแล้วก็ตาม ซึ่งนอกเหนือจากอนุสัญญาเบิร์น ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศแล้ว แม้ว่าประเทศไทย จะไม่ต้องผูกพันตามความตกลงระหว่างประเทศใด ๆ ที่เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองแก่สิ่งที่ได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาก็ตาม นอกจากความผูกพันตามอนุสัญญาเบิร์น อนุสัญญาปารีสเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางอุตสาหกรรมมีอิทธิพลอย่างมากในการร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของไทย กฎหมายเครื่องหมายการค้าปัจจุบัน ยอมรับการจำแนกสินค้าและบริการตามบทบัญญัติของความตกลงนีซเรื่องการจำแนกระหว่างประเทศซึ่งสินค้าและบริการระหว่างประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนเครื่องหมาย นอกจากอนุสัญญาเบิร์นแล้วยังมีความตกลง TRIPs ซึ่งประเทศไทยและประเทศส่วนใหญ่ในประชาคมโลกยอมรับและต้องบังคับตามพันธกรณี โดยการปรับปรุงและตรากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของตน เนื่องจากการอนุวัตรการความตกลง TRIPs มีผลให้ต้องยอมรับความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบางฉบับ ซึ่งอ้างถึงในความตกลง TRIPs ประเทศไทยเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าเป็นภาคีในความตกลงระหว่างประเทศเฉพาะเรื่องเหล่านั้น แต่ประเทศไทยก็ยังสนใจในการเข้าร่วมสนธิสัญญาความร่วมมือทางด้านสิทธิบัตร (PCT) คณะกรรมมาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทบทวนพระราชบัญญัติสิทธิบัตรมีความเห็นว่าการเข้าเป็นภาคีจะเป็นประโยชน์กับผู้ประดิษฐ์ไทยในเรื่องของการจดทะเบียนระหว่างประเทศ เนื่องจากการยื่นคำขอสามารถทำได้ในประเทศไทย และผู้ยื่นคำขอสามารถระบุประเทศซึ่งตนประสงค์จะได้รับความคุ้มครองได้หลายประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น การสืบค้นระหว่างประเทศจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และผู้ยื่นคำขอสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการแยกยื่นคำขอกับสำนักงานสิทธิบัตรหลายๆ แห่ง ดังนั้น คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรจึงสรุปว่ารัฐบาลไทยควรดำเนินการเพื่อเข้าร่วมในสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตรโดยเร็ว ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาก่อตั้งองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989)
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมายไทย ผมได้ค้นคว้าพบว่ามีหนังสือหลายเล่มที่กล่าวว่า ได้มีการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยบัญญัติเป็นกฏหมายชัดแจ้ง โดยเริ่มจากการคุ้มครองงานวรรณกรรมโดยประกาศหอสมุดวชิรญาณ ร.ศ.111 หรือ พ.ศ. 2435 หรือกล่าวได้ว่าเป็นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาฉบับแรกของไทย ปัจุบันกฏหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ประกาศใช้ในประเทศไทย ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกของ WTO และเป็นประเทศกำลังพัฒนา การตรากฎหมาย ใหม่ตลอดจนการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สอดคล้องเป็นไปตามความตกลง TRIPs จะต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) ขณะที่เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งแก้ไขปรับปรุงและตราขึ้นเพื่อเป็นไปตามความตกลง TRIPs มีดังนี้ - พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 อันให้ความคุ้มครองงานประดิษฐ์และการออกแบบผลิตภัณฑ์และแก้ไขเพิ่มเติม และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 -พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งให้ความคุ้มครองงานสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ ที่กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีลิขสิทธิ์ ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง -พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งให้ความคุ้มครองงานในสิทธิเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการและแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ในปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) นอกจากกฎหมายดังกล่าวแล้ว ยังมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิด ในส่วนของประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่งฯ ในการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไว้อีกเช่นกัน เทคโนโลยีโทรคมนาคมที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากทรัพย์สินทางปัญญาหรือวิวัฒนาการของงานวิศวกรรมก็ตามที สำหรับในประเทศไทยแล้วนอกจากกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม และการสื่อสารที่เราทราบกันดีอยู่ ยังมีกฏหมายที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาที่จะมีบทบาทตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดเสรีโทรคมนาคมอย่างเต็มที่ ซึ่งกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญานอกจาก พรบ. ทั้งสามที่กล่าวมาแล้วยังมีอีกหลาย พรบ. อาทิเช่น -พรบ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ พ.ศ. 2539 -พรบ. คุ้มครองแบบผังวงจรรวม พ.ศ. 2543 -พรบ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 -พรบ. ความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 -พรบ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ประเภททรัพย์สินทางปัญญา 1. สิทธิบัตร 2. ลิขสิทธิ์และสิทธิเกี่ยวเนื่อง 3. เครื่องหมายการค้า 4. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 5. การออกแบบอุตสาหกรรม 6. การออกแบบผังภูมิ (ภูมิสภาพ) ของวงจรรวม 7. การคุ้มครองข้อสนเทศที่ไม่เปิดเผย
ที่มา http://www.torakom.com/article_index.php?sub=article_show&art=123

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น